วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ลักษณะอาหารไทยประจำภาคต่างๆ

     อาหารไทยเป็นอาหารประจำชาติไทย ที่มีการสั่งสมถ่ายทอดกันอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ มีการปรุงอย่างประณีต บรรจง นอกจากจะเป็นอาหารเพื่อกินให้อิ่มแล้ว ยังเป็นอาหารตา เพราะมีความสวยงามทั้งรูปลักษณะ และสีสันที่วิจิตรบรรจงหาชาติใดเสมอเหมือ มีความเฉพาะตัว และโดยที่ประเทศไทยมีพื้นที่กว้างขวง ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศที่เหมาะสมและพื่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีพืชพรรณที่มีความแตกต่างและเหมือนกันบ้างบางส่วน ทำให้เกิดความหลากหลายในวัฒนธรรมด้านอาหารการกิน โดยมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละภาค ดังนี้
  • อาหารไทยภาคกลาง
     ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีภูเขาบ้าง ส่วนมากเป็นภูเขาเตี้ยๆ มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเหมาะสำหรับเพราะปลูกและเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นภาคที่อุมสมบูรณ์มากที่สุด เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงนับหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงทำให้เป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมมีการติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้เกิดการรับอิทธิพลทางด้านอาหาร เช่น การผัดโดยใช้กระทะและน้ำมันจากชาวจีน ขนมทองหยิบ ฝอยทอง มาจากชาวโปรตุเกส เครื่องแกงที่ใส่ผลกะหรี่มาจากชาวฮินดู เป็นต้น อาหารภาคกลางมักจะมีเครื่องเคียงของแนม เช่น น้ำปลาหวานคู่กับกุ้งเผา ปลาดุกย่าง แกงเผ็ดคู่กับของเค็ม น้ำพริกลงเรือคู่หมูหวาน เป็นต้น มีขนมหวานและอาหารว่างมากกกว่าภาคอื่นๆ เช่น ขนมจีบไทย ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้างตังหน้าตั้ง กระทงทอง ขนมชั้น ขนมสอดไส้ เป็นต้น ที่สำคัญเป็นที่ของพระราชวังของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ มีการสร้างสรรค์อาหารชาววังที่เลื่องชื่อ
     
    
     สรุปได้ว่า ภาคกลางเป็นที่มีความหลากหลาย รสชาติของอาหาร ภาคนี้ไม่เน้นอาหารไปทางรสหนึ่งรสใด คือต้องมีความกลมกล่อม มีรสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน รสเผ็ด ไปตามชนิดของอาหารนั้นๆ และมักจะประกอบด้วยเครื่องปรุงแต่งกลิ่น รส เครื่องเทศ สมุนไพร


  • อาหารไทยภาคเหนือ
      ภาคเหนือ ภูมิประเทศเป็นภูเชาสลับกับทิวเขาทอดเป็นแนวยาวจากเหนือลงไปใต้ มีที่ราบระหว่างภูเขา อากาศหนาวเย็น ทำให้มีพืชพรรณที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ เช่น มะเขือส้ม ดอกงิ้ว พริกหนุ่ม มะแขว่น แหลบ มีเขตแดนบางส่วนติดกับประเทศพม่า ทำให้เกิดการถ่นทอดวัฒนธรรม เช่น แกงฮังเล ขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือขนมจีนน้ำมะเขือส้ม (ชาวไทยใหญ่ ชาวเงี้ยว) ข้าวซอย (ชาวจีนฮ่อ) มีการถนอมอาหารหลายชนิดที่ปัจจุบันเป็นที่แพร่หลาย เช่น แคบหมู หนังฟอง จิ้นส้มหรือแหนม ถั่วเน่า น้ำปู้ (น้ำปู) เป็นต้น


      อาหารภาคเหนือไม่นิยมใส่น้ำตาล ความหวานจะได้จากส่วนผสมที่นำมาทำอาหาร เช่น ความหวานจากผัก จากปลา ไขมันจะได้จากน้ำมันของสัตว์ สัตว์ที่นิมนำมาประกอบอาหารจะเป็น หมู ไก่ เนื้อ และปลาน้ำจืด การรับประทานอาหารของคนภาคเหนือ จะใช้โต๊ะข้าวที่เรียกว่าขันโตก แทนโต๊ะอาหาร จะทำด้วยไม้รูปทรงกลมมีขาสูงพอที่จะนั่งร่วมวง และหยิบอาหารได้สะดวก ในปัจจุบันกลายเป็นการจัดเลี้ยงที่นิยมเรียกว่า งานเลี้ยงขันโตกดินเนอร์ ซึ่งจะมีรายการอาหารที่จัดดังนี้ ข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก แกงฮังเล ลาบคั่ว (ไม่นิยมรสเปรี้ยว ปรุงรสเค็มนำ นำไปผัดกับน้ำมันให้สุก) ไส้อั่ว แคบหมู จิ้นทอด (หมูทอด) น้ำพริกหนุ่มหรือน้ำพริกอ่อง ผักสด ผักต้ม


  • อาหารไทยภาคใต้
     ภาคใต้จะเริ่มตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงประเทศมาเลเซีย มีลักษณะเป็นแผ่นดินที่ยื่นลงไปในทะเล โดยมีทะเลขนาบทั้ 2 ด้าน มีทิวเขาตะนาวศรีอยู่ทางทิศตะวันตกกั้นแนวพรมแดนไทยกับพม่า มีฝนตกชุกและมีช่วงฤดูฝนนานกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ จึงมีผักที่ใช้เป็นอาหารแตกต่างไปจากภาคอื่นๆ หลายชนิด เช่น สะตอ ลูกเนียง มะม่วงหิมพานต์ หน่อเหวียง ใบพาโหม อ้อดิบ


     อาหารภาคใต้โดยทั่วไปมักมีรสจัด คือ เผ็ด เค็ม รสหวานได้จากกะทิ เครื่องปรุงรสเค็มได้จากกะปิ น้ำปลา น้ำบูดู รสเปรี้ยวได้จากมะนาว มะกรูด มะม่วงเบา ส้มแขก สีอาหารจะออกสีเหลืองจากขมิ้น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่นอกจากให้สีแล้ว ยังให้กลิ่นด้วย และดับกลิ่นคาวของอาหารทะเลนี้เป็นอาหารหลัก การที่อาหารภาคใต้มีรสจัด จึงต้องมีผักรับประทานคู่ไปด้วย เพื่อช่วยลดความเผ็ดร้อนลง เรียกว่า "ผักเหนาะ" เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว สะตอ ลูกเนียง ยอดมะกอก  นอกจากนี้ ยังมีการถนอมอาหารที่ขึ้นชื่อ เช่น กุ้งเสียบ น้ำบูดู ไตปลา เป็นต้น


  • อาหารไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     อาหารไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ภาคอีสาน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ประกอบด้วย ทิวเขา มีผ่าไม้น้อย เป็นทุ่งกว้าง เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์ รับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก รสอาหารเค็ม เผ็ด และเปรี้ยว ทำให้เกิดอาหารที่ขึ้นชื่อ คือ ส้มตำ ลาบ ซุปหน่อไม้ ไส้กรอก หม่ำ (น้ำตับ) การจัดเตรียมอาหารไม่เน้นสีสันของอาหารหรือรูปแบบมากนัก กลิ่นของอาหารได้จากเครื่องเทศเหมือนภาคอื่นๆ แต่จะนิยมใช้ใบแมงลัก ผักชีลาว ผักชีฝรั่ง ผักแพว จะใส่ในอาหารเกือบทุกชนิด อาหารประเภทแกงไม่นิยมใส่กะทิ

     อาหารพื้นเมืองจะมีอาหารพวกแมลง เช่น มดแดง จิ้งหรีด ตั๊กแตน ดักแด้ แมงกุดจี่  สัตว์อื่นๆ ตามธรรมชาติ เช่น ปูนา กบ เขียด อึ่ง แย้ งู หนูนา เป็นต้น


ข้อมูลจาก คู่มือหลักสูตร ช่างฝีมืออาหารไทย
โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น